วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

พระกรุวัดเพชร จ.สระบุรี



พระกรุวัดเพชร




สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เรามาคุยกันถึงพระกรุเมืองสระบุรีกันบ้างนะครับ เพราะไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงพระกรุของสระบุรีกันนานแล้ว บางครั้งอาจจะทำให้ลืมๆ กันไปว่า เมืองสระบุรีนั้นเขาก็มีพระกรุพระเก่าอยู่เหมือนกัน พระเครื่องที่จะนำมาคุยกันนั้นคือพระเครื่องกรุวัดเพชร อำเภอเสาไห้ สระบุรีครับ

อำเภอเสาไห้ หรือเสาร้องไห้ ที่มาของชื่ออำเภอนี้มีเรื่องราวมาจากเรื่องนางตะเคียนร้องไห้ เนื่องด้วยเมื่อคราวสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในตอนสร้างกรุงนั้นได้มีการคัดเลือกเสาที่มีลักษณะดีถูกต้องตามตำราส่งเข้าประกวดทุกหัวเมือง เพื่อคัดเลือกมาทำเสาหลักเมือง หัวเมืองต่างๆ ก็ส่งเสาเข้ามาประกวดมากมาย จำนวนเสาที่นำมาคัดเลือกมี 81 ต้น สำหรับไม้เสาของแควป่าสัก เมืองสระบุรีค้นพบในเทือกเขาดงพญาไฟ อำเภอมวกเหล็ก เป็นต้น ตะเคียนทองมีนางไม้สถิตอยู่ มีความศักดิ์สิทธิ์มากไม่มีใครกล้าตัด แต่มีผู้เรืองเวทย์คนหนึ่งชื่อ นายต๊ะ ได้ทำการบวงสรวงและทำการตัดได้สำเร็จ และได้อัญเชิญนางไม้ที่สถิตอยู่นั้นให้ล่องลงมายังเมืองกรุงด้วย

เสาไม้ตะเคียนของสระบุรีมาถึงก่อนเมืองอื่น จึงได้รับเลือกเป็นเสาหมายเลขหนึ่ง แต่พอถึงวันคัดเลือกจริง ปรากฏว่าเสาไม้ตะเคียนของเมืองสระบุรีไม่ได้รับคัดเลือก ซึ่งคณะกรรมการตำหนิว่าปลายเสาคดจึงพลาดโอกาสไป ด้วยสาเหตุจากการผิดหวังครั้งนี้ ทำให้นางไม้ที่สถิตอยู่เสียใจมากในคืนนั้นจึงหนีจากท่าน้ำลอยทวนน้ำกลับถิ่นเดิม และร้องไห้มาตลอดทางลำน้ำ พอมาถึงบ้านไผ่ล้อมก็เป็นเวลารุ่งอรุณพอดี ซึ่งขณะนั้นยังร้องไห้คร่ำครวญอยู่ จนชาวบ้านที่ริมน้ำได้ยินกันทั่ว จากนั้นก็ยังลอยทวนน้ำต่อไป ซึ่งชาวบ้านทั้งสองฝั่งพากันมาดูมากมาย ประมาณ 09.00 น. เสาจึงค่อยๆ จมลงทีละน้อย ตรงที่เสาจมน้ำลงไปนั้น จึงมีชื่อเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านเสาร้องไห้ หรือสาวร้องไห้" ต่อมาจึงเหลือเป็น "เสาไห้" ต่อมาเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ทางหน่วยราชการ และชาวบ้านจึงได้บวงสรวงอัญเชิญ ขึ้นมาจากท้องน้ำ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่ วัดสูง อำเภอเสาไห้ สระบุรี มีผู้คนไปชมและสักการะกันมากทุกปี

วัดเพชรเป็นวัดหนึ่งในเขตอำเภอเสาไห้นี้ ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านยาง สันนิษฐานว่าสร้างในประมาณปีพ.ศ.2315 เป็นวัดเก่าแก่ ส่วนการแตกกรุนั้น เมื่อประมาณปีพ.ศ.2491 ทางคณะกรรมการวัดได้ทำการปฏิสังขรณ์ โบราณสถานต่างๆ ภายในวัด ก็ได้พบพระเจดีย์เก่าสององค์ที่อยู่หลังโบสถ์ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ยากที่จะบูรณะให้คืนสภาพได้ จึงมีมติให้รื้อซากพระเจดีย์นั้นเสีย ปรากฏว่า ได้พบพระเครื่องเนื้อชินพิมพ์ต่างๆ บรรจุอยู่ในโอ่งประมาณหลายหมื่นองค์ มีแบบพิมพ์ต่างๆ เช่น พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์ป่าเลไลยก์ พิมพ์ไสยาสน์ พิมพ์อู่ทอง พิมพ์สมาธิ พิมพ์เพชรกลับ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังพบพระเนื้อดินที่เหมือนกับพระกรุวัดดาวเสด็จ ที่ใต้ฐานพระประธานในพระอุโบสถอีกจำนวนหนึ่ง

การพบพิมพ์ต่างๆ ในครั้งนั้น ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจเท่าใดนัก สนใจแต่พระที่ใต้ฐานพระประธานเสียมากกว่า เพราะเหมือนกับพระกรุวัดดาวเสด็จ ภายหลังมีผู้นำพระไปทดสอบปรากฏว่ายิงไม่ออก ข่าวนี้แพร่ออกไปจึงมีคนกลับมาหาพระกรุวัดเพชรกันเป็นจำนวนมาก จนพระหมดไปจากวัดเพชรในที่สุด พระเครื่องกรุนี้เป็นพระเนื้อชินเงินผิวปรอทขาว เกือบทุกองค์ ปัจจุบันนี้ก็ยังพอหาได้ไม่ยากนักครับ นับว่าเป็นพระกรุของดีของเสาไห้ เมืองสระบุรีกรุหนึ่งครับ

พระกรุวัดโพธิ์บางปะอิน








วัดโพธิ์บางปะอิน ตั้งอยู่เลขที่ 23 หมู่ 3 ตำบล บ้านโพธิ์ อำเภอ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา สร้างสมัยปลายกรุงศรี มีเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา สร้างสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. 2300 ไม่ปรากฎนามผู้สร้างแน่ชัด บูรณะปฏิสังขรณ์ในปี 2491 โดยรื้อพระอุโบสถหลังเก่าและวางศิลาฤกษ์อุโบสถหลังใหม่ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2491 เสร็จเรียบร้อยในปี 2494 และในปี 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระสมเด็จพระนางเจ้าบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถในวันที่ 24 มิถุนายน 2509 และเททองหล่อรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี และรูปเหมือนหลวงปู่คง เพื่อประดิษฐานไว้ด้านเหนือและด้านใต้ของพระอุโบสถ ประวัติความเป็นมาของพระกรุเนื้อดินนี้ นับได้ว่าเป็นเรื่องราวที่แสดงถึง ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาและเจตนาบริสุทธิ์ของฆาราวาสท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งมีความมุ่งมั่น มานะศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จักสร้างพระไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยไม่หวั่นเกรงต่อคำครหา และผลบุญกุศลในการมุ่งมั่นหวังที่จะสร้างพระให้ได้ 84,000 องค์ตามอายุพระธรรมขรรค์ ได้ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์บางอย่างในท้องถิ่นบ้านโพธิ์บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนวงการพระเครื่อง ในปัจจุบันนี้ ตาหนอม เป็นชื่อของชายชราไทยเชื้อสายจีน ผูกเรืออาศัยอยู่ริมน้ำปากคลองบ้านโพธิ์ แกมีอาชีพพายเรือขายหมากขายพลู ด้วยที่แกมีความศรัทธาอันแรงกล้าต่อพระพุทธศาสนา จึงใช้เวลาว่างจากการงาน ประดิษฐ์พิมพ์พระขึ้นมาหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์พระสมเด็จ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์พระพุทธองค์ทรงเม่น (สันนิษฐานว่าล้อพิมพ์พระหลวงพ่อปานวัดบางนมโค) เมื่อปั๊มกดพิมพ์และเผาตามกระบวนการเรียบร้อยแล้ว แกก็ได้นำพระไปบรรจุกรุโกฎิเจดีย์ร้างเก่าทรุดโทรมองค์เล็กๆองค์หนึ่ง ที่ประดิษฐานภายในวัดโพธิ์บางปะอิน พระเจดีย์องค์นี้ค่อนข้างเก่าทรุดโทรมจึงมีโพรงอยู่ด้านบน การสร้างพระนั้นตาหนอมจะทำไปเรื่อยๆในเวลาว่างจากการงาน ช่วงเวลาการสร้างพระประมาณปี 2450-249...เห็นจะได้หากคำนวณตามอายุของแกตอนมีชีวิตอยู่ ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแกในละแวกบ้านโพธิ์บางปะอิน หากนับจากวันเวลาตามนั้นก็ล่วงเวลามากว่าร้อยปีแล้ว
เมื่อตาหนอมสร้างพระได้จำนวนหนึ่งแกก็จะนำพระไปเทใส่ในเจดีย์องค์เล็กๆองค์นั้น แกทำของแกอยู่อย่างนั้นทุกเมื่อเชื่อวัน โดยชาวบ้านในละแวกนั้นมองแกว่าเป็นคนจิตไม่ปกติ แต่ก็ชาวบ้านก็เห็นพ้องต้องกันว่าตาหนอมแกนั้นเป็นคนดียึดมั่นอยู่ในศิลในธรรม ความไม่ปกติของแกที่ชาวบ้านลือกันจนทุกวันนี้ อาจเป็นเพราะความมุ่งมั่นสร้างพระอย่างไม่มีวันสิ้นสุดของตาหนอมนั้นเอง
บั้นปลายชีวิตของตาหนอมได้เสียชีวิตลงไปอย่างไม่มีใครทราบสาเหตุและไม่มีคนสนอกสนใจเหมือนคนชราที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวอย่างสันโดษไม่ข้องแวะกับทางโลก เหลือไว้เพียงเจดีย์เล็กๆเก่าทรุดโทรมข้างพระอุโบสถ ก็เป็นอันรู้กันว่าภายในมีพระเครื่องของตามหนอมสร้างบรรจุไว้ พระของแกออกมาปรากฏให้เห็นก็ล่วงเวลานานเมื่อมีเด็กๆแถววัด ได้เก็บพระที่คงทะลักออกมาตามรอยแตกของพระเจดีย์ นำมาเล่นทอยเส้นกัน โดยบางคนได้ใช้ดินเหนียวผูกเชือกหย่อนลงไปในโพรงและดึงขึ้นมาก็จะติดพระขึ้นมาด้วย ผู้ใหญ่บางคนที่พบเห็นก็จะนำไปใส่ไว้ในกรุเหมือนเดิม จนเวลาล่วงเลย ปี พ.ศ. 2509 ทางวัดได้พยายามหาทุนเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ มีคนหัวใสขุดกรุพระที่ตาหนอมสร้างไว้นำออกจำหน่ายพร้อมเขียนประวัติเผยแพร่ โดยนั่งเทียนเขียนผูกเรื่องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์โต (ซึ่งเป็นคนละยุคสมัยกัน) มีการเชื้อเชิญคนใหญ่คนโตในจังหวัด มีการถ่ายทอดสภานีโทรทัศน์ในการทำพิธิยกช่อฟ้าพระอุโบสถ จนเป็นที่โจษจันท์กันไปทั่วประเทศ ในวาระนั้นยังคงตอกย้ำด้วยการสร้างรูปเหมือนสมเด็จพระพุฒาจารย์โตไว้ที่วัด
ชาวบ้านที่รู้ความเป็นมาของพระตาหนอม ไม่มีใครกล้าปริปาก ส่วนหนึ่งก็ไม่มีใครยากขวางความเจริญที่เข้ามาสู่วัดโพธิและท้องถิ่น
ด้วยเหตุเพราะพระที่สร้างโดยชายชราชาวบ้านคนหนึ่ง หรือจะเทียบกับพระที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์โต แม้จะเป็นเรื่องอุบายเสริมแต่งก็ตามที แต่ที่ทุกคนมองข้ามไปก็คือ เจตนาบริสุทธิของชาวพุทธที่หาได้ยากยิ่ง คำครหาที่ว่าตาหนอมวิกลจริต คงไม่ต่างกับคำครหาที่มีต่อพระเถระอาจารย์ และฆาราวาสผู้เรืองเวทย์ในอดีตหลายๆท่านเหมือนกัน
เมื่อพิจารณาพระเครื่องกรุวัดโพธิ์บางปะอิน น่าจะเป็นพระเครื่องที่นักนิยมพระรุ่นใหม่ควรให้ความสนใจ เนื่องด้วยมีเหตุผลหลักๆ ดังต่อไปนี้
1.พระมีอายุการสร้างเก่าแก่เป็นร้อยปี ราคาไม่แพง
2.สร้างด้วยเจตนาอันบริสุทธิและศรัทธาอย่างแรงกล้ายิ่งรวมถึงความมานะอุตสาหะซึ่งหาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน
3.เป็นพระที่มีประสบการณ์เป็นที่โจษจันท์มากและมีมานานแล้ว
4.เป็นพระที่ก่อให้เกิดความเจริญต่อพระพุทธศาสนา และวัดโพธิ์บางปะอิน อย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นได้
5.เป็นพระที่กาลเวลาพิสูจน์ได้ว่า ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง คือ สืบทอดพระพุทธศาสนา
ทุกวันนี้เมื่อเราไปทำบุญ ณ วัดโพธิ์บางปะอิน จะพบเห็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของใหม่เกือบทั้งหมด มองดูล้วนครบถ้วนสมบูรณ์ดีทุกๆสิ่ง แต่ก็ยังรู้สึกว่าขาดอะไรไปบางอย่างที่ วัดอื่นๆที่มีพระกรุพระเกจิอาจารย์ดังๆ เขามีกันแต่วัดนี้ไม่มี ทางวัดยังลืมหรือขาดซึ่งรูปหล่อรูปเหมือนของตาหนอม
ฆาราวาสผู้ซึ่งอุปถัมป์ค้ำชูและจรรโลงพระพุทธศาสนาไว้นั่นเอง